กยท. รับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบกิจการยาง 2
โครงการ หวังดูดซับยางออกจากระบบ และกระตุ้นให้เกิดการใช้ยาง
การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)
เดินหน้าโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการกิจการยาง
(ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
ขยายวงเงิน เป็น 25,000 ล้านบาท หวังดูดซับยางออกจากระบบ
นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย
ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย
เดินหน้าโครงการสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบกิจการยาง ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15
ตุลาคม 2562
อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง
(ยางแห้ง) วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท
โดยขยายระยะเวลาจากเดิมออกไปโดยเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนธันวาคม 2564
(ระยะเวลาในการอนุมัติวงเงินสินเชื่อที่เข้าโครงการจนสิ้นสุดระยะเวลาการชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการ
1 ปี แต่ไม่เกินเดือนธันวาคม 2563)
และโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงินสินเชื่อ 15,000
ล้านบาท ขยายวงเงินเป็น 25,000 ล้านบาท
รองผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า
โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง)
วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท
เป็นการสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบกิจการยางแห้งนำมาหมุนเวียนเพื่อใช้ในการซื้อวัตถุดิบมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควัน
ยางแท่ง และเก็บสต๊อกไว้ในลักษณะหมุนเวียน (Moving Stock) เพื่อให้เกิดการดูดซับยางออกจากระบบ
โดยเป็นการกู้เงินระยะสั้นจากธนาคารพาณิชย์
และรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้ในอัตราที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี
ตามระยะเวลาโครงการ 1 ปี
ในส่วนของโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง
จากเดิมได้สนับสนุนดอกเบี้ยในวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท
รัฐบาลได้ขยายวงเงินสินเชื่อ (เพิ่มเติม) 10,000 ล้านบาท
เพื่อให้กับผู้ประกอบกิจการยางขั้นปลายน้ำ ในการขยายกำลังการผลิต
ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ซึ่งต้องเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ
ทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้น และยางแห้ง โดยเป็นการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์
และรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี
ตลอดระยะเวลา 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2559-2569)
ซึ่งจะทำให้มีปริมาณการใช้ยางในประเทศเพิ่มมากขึ้น จากเดิม 60,000 ตัน/ปี เป็น
100,000 ตัน/ปี
“การขยายเวลาและวงเงินกู้ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้ยางภายในประเทศ
นำไปสู่การดูดซับยางออกจากระบบเกิดการขยายกำลังการผลิต การแปรรูปยาง
ผลักดันราคายางให้สูงขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ ไม่ให้เกิดความผันผวน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
ผู้ประกอบกิจการยาง และรัฐบาล ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ
สามารถยื่นคำขอพร้อมเอกสารที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย
กรุงเทพฯ โทร 0-2940-7391
สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ”
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น