วว./ธ.ก.ส./ธสน. ผนึกกำลังต่อยอด เชื่อมโยง พัฒนานวัตกรรม การตลาด
ในกลุ่มธุรกิจ SME เกษตร
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา
“โครงการต่อยอดเชื่อมโยงด้านการพัฒนานวัตกรรมและการตลาดในกลุ่มธุรกิจ SME เกษตร”
ภายใต้กรอบความร่วมมือ 3 หน่วยงาน คือ วว. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(ธ.ก.ส.)
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ตามแผนยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ
ผู้บริหารของพันธมิตรให้เกียรติร่วมกิจกรรมในโอกาสนี้ ได้แก่ นายภานิต
ภัทรสาริน ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. นางสาวศศิธร มาเมือง
ผู้จัดการส่วนบริหารเครือข่ายและที่ปรึกษาผู้ประกอบการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า ธสน. นายเรืองชัย เจริญกิจสุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมพัฒนา
SME และ Startup ธ.ก.ส.
รวมทั้งผู้บริหาร และทีมงานของทั้ง 3 หน่วยงาน
โดยมีผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจ SME เกษตร
จากทั่วประเทศ 40
บริษัทที่เข้าร่วมโครงการฯ เข้าสัมมนาจำนวน 60 ท่าน ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว.
เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
การจัดสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนา SME และ Startup
ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง
แข่งขันกับตลาดภายในและต่างประเทศได้
เพื่อเติมความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างมูลค่าเพิ่ม
เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ๆ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น
ให้เกิดการพัฒนาในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในการเพิ่มโอกาสขยายธุรกิจ
มีช่องทางการตลาดมากขึ้น และสามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสินเชื่อของธนาคาร รวมทั้งเพื่อจัดทำแผนการพัฒนา SME ไปในทิศทางการพัฒนาธุรกิจ ในรูปแบบการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่และเทคโนโลยี
เข้ามาช่วยในการพัฒนาตัวสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ดร.ชุติมา
เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว.
กล่าวว่า ฐานรากเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมหภาพ ได้แก่
ธุรกิจ SME และ Startup ซึ่งธุรกิจนี้มีความเชื่อมโยงกันตลอดห่วงโซ่ถึงในระดับฐานราก
มีการเกื้อกูลกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยใช้กระบวนการความร่วมมือ
ช่วยเหลือ แบ่งปัน เกิดการจ้างงาน สร้างคน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้
ดังนั้นการที่หน่วยงานภาครัฐได้มีการจับมือกัน เพื่อร่วมกันที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการ
SME และ Startup ให้มีความเข้มแข็ง
ถือว่าเป็นการตอบโจทย์ให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง เช่น
เสริมความรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มช่องทางธุรกิจและเติมโอกาสทางธุรกิจ
สร้างช่องทางการตลาด ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อขยายธุรกิจ
ซึ่งเป็นแนวทางในการก้าวสู่การมีธุรกิจที่มั่นคง
และในระดับธุรกิจฐานรากก็จะมีการเชื่อมโยงวัตถุดิบจากผู้ผลิตระดับต้นน้ำ
ให้เข้ามาสู่เครือข่ายทั้งกระบวนการ และยังมีส่วนงานจากภาครัฐ
เข้ามาช่วยกันพัฒนาและนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆตลอดจนเสริมสร้างองค์ความรู้ต่างๆเพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมั่นคงยั่งยืน
“...กิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการ SME และ Startup ทั้ง 40 บริษัทตามโครงการ
อาศัยความชำนาญเฉพาะของส่วนงาน กระบวนการต้นน้ำและกลางน้ำขับเคลื่อนโดย
ธ.ก.ส. ปลายน้ำผลักดันโดย ธสน. โดยมี วว. สนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม และมาตรฐาน
ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจเป็นกิจกรรมขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้สามารถส่งออกผลผลิตและผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศและสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วว. มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการดำเนินงานด้านเกษตรปลอดภัย
และออแกนิค เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม จะช่วยเปิดประตูการส่งออกได้
การพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน
โดยนำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนผ่านการดำเนินงานของทั้ง 3 หน่วยงาน
จะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านการส่งออก สร้างรายได้กลับเข้าสู่ประเทศ
ซึ่งน่าจะเป็นคำตอบให้ผู้ประกอบการในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19
ในการหาช่องทางใหม่ๆ เพราะทุกวิกฤตจะมีโอกาสเสมอ...” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
นายภานิต ภัทรสาริน
ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจะมุ่งนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เพิ่มมูลค่าและการสร้างความแตกต่าง
โดยเฉพาะภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ทุกธุรกิจจะต้องปรับตัวใหม่ทั้งระบบ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก
โดยมีสิ่งที่เพิ่มขึ้นคือต้นทุนในกระบวนการผลิต/การประกอบการ ทั้งนี้
ธ.ก.ส.จึงมุ่งสนับสนุนให้นำนวัตกรรมเข้ามาเพิ่มมูลค่าการผลิต ช่วยลดต้นทุน
ให้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการค้า จะทำให้ผู้ประกอบการได้เปรียบคู่ค้าในที่สุด
“...ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจ 2 อย่างเติบโต คือ
ระบบการจ่ายเงินและระบบการขนส่งสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องนำ 2
สิ่งนี้มาเป็นเครื่องมือต่อสู้ขับเคลื่อนธุรกิจ
ธ.ก.ส.มุ่งสร้างผู้ประกอบการหรือหัวขบวนที่เข้มแข็งกว่ามาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับลูกค้าที่อ่อนแอกว่า
เพราะตลาดในปัจจุบันไม่ได้วัดที่ปริมาณ แต่วัดที่มูลค่า
ทุกอย่างต้องเอารายได้เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาปริมาณเป็นตัวตั้ง
นอกจากนี้จะต้องให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเป็นโอกาสของประเทศไทย
ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเป็นโอกาสที่ดีของภาคการเกษตร เพราะเป็นต้นน้ำ
ไทยต้องเข้มแข็งต่อไปในโลก...” ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น