ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล แนะคิดนอกกรอบเพื่ออนาคตข้าว...อนาคตไทย ต้องนำวิทยาการสมัยใหม่จากเศรษฐกิจดิจิทัลมาปรับใช้
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับองค์กรเครือข่ายอีก 10
องค์กรจัดการประชุมเวทีข้าวไทย ปี 2563 ภายใต้หัวข้อ “อนาคตข้าว... อนาคตไทย” โดยมีการจัดเสวนาใน 4 หัวข้อที่เปิดประเด็นการคิดนอกกรอบ
เพื่อก้าวให้ถึงเป้าหมายอนาคตข้าวไทยที่ดีขึ้น
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวย้ำ ในการเปิดการประชุมว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือได้ทรงเตือน ว่าการแสวงหาแนวทางเพื่อก้าวไปข้างหน้า ให้บรรลุเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ “ต้องเตรียมตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก” การจัดการประชุมเวทีข้าวไทยในครั้งนี้ จึงมีหัวข้อการเสวนาที่เป็นการคิดนอกกรอบ มีมุมมองครบทั้งมิติทางสังคม และเศรษฐกิจ และนำวิทยาการสมัยใหม่จากเศรษฐกิจดิจิดัลมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
โดยเวทีการเสวนาได้รวบรวมตัวอย่างของทุกภาคส่วนในแวดวงข้าว มาบอกเล่าประสบการณ์ครบถ้วนในทุกมิติ เริ่มตั้งแต่การผลิต ในหัวข้อ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อข้าวและชาวนา” ชี้ให้เห็นความสำคัญของข้าว ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนา Application บนมือถือเพื่อการพยากรณ์อากาศ แสดงช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อการบริหารจัดการแปลงนาในทุกช่วงของการปลูก จนถึงการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ Application เหล่านี้ได้วางรูปแบบให้ชาวนาแปลความ และใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่ยาก นอกจากนี้ ยังมีชาวนารุ่นใหม่ที่กลับไปทำนาโดยใช้เทคโนโลยีในการปลูกข้าวและประสบความสำเร็จหลายเครือข่าย รวมทั้ง ข้าวยังสามารถนำมาสร้างสรรค์นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าข้าว เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ซึ่งนับวันจะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ
ในหัวข้อ “ข้าวเพื่อสุขภาพ” ได้เสนอประโยชน์ของข้าวที่ไม่ได้เป็นเพียงอาหารหลัก
แต่ข้าวยังเป็นองค์ประกอบของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังที่กล่าวว่า
“กินข้าวเป็นยา” อาทิ ข้าวไทยมีดัชนีน้ำตาลต่ำ
ดีต่อผู้บริโภคที่เป็นเบาหวาน ข้าวหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะข้าวสี
ที่ให้สารต้านอนุมูลอิสระสูง นอกจากนี้ ข้าวยังเป็นคำตอบสำหรับการบริโภคอาหารของผู้สูงวัย
ในประเด็น “ข้าวในมิติของเศรษฐกิจหมุนเวียน
(Circular Economy)” นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
(TDRI) ระบุว่า
วงจรการผลิตและแปรรูปข้าว สามารถพัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนได้โดยไม่ยากนัก
โดยคุณสีเมือง ศรีสมบุตร ชาวนาจากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นเจ้าของเครื่องจักกลการเกษตร
อาทิ รถเกี่ยว รถไถ และเครื่องอัดฟาง
ได้เล่าตัวอย่างของการนำทุกส่วนของข้าวมาสร้างมูลค่าโดยไม่เหลือทิ้ง
ตามหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน อาทิ การใช้เครื่องอัดก้อนฟางข้าว
สร้างมูลค่าของฟาง ไม่เพียงแต่สร้างรายได้เพิ่ม แต่ยังช่วยลดการเผาฟางที่ก่อปัญหา PM
2.5 อีกด้วย
คุณสีเมืองกล่าวว่า ”สุขใจที่ได้ทำ ทำแยะ ได้แยะ”
ประเด็นสุดท้ายที่กำลังเป็นทางเลือกใหม่ของการสร้างเศรษฐกิจจากข้าว
คือ “ข้าวเพื่อการท่องเที่ยว Rice -Tourism” ซึ่งแสดงให้เห็นรูปแบบของการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างมูลค่า
ให้วิถีชาวนาไทย โดยการใช้แปลงนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนที่เป็นธรรมชาติ
และปลอดภัย โดยไม่เพียงเป็นแหล่งสร้างรายได้ แต่ยังเป็นสถานที่เรียนรู้
สร้างความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมข้าว และแสดงให้เห็นถึงความสุขที่แท้จริง
ของวิถีชาวนา
และนี่ คือบางข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุมเวทีข้างไทย
“ ทำแบบเดิม ก็ได้แบบเดิม ทำแบบใหม่
ก็จะได้เห็นโอกาสที่ดีกว่าเดิม”
“ ข้าวทำให้ครอบครัวมีความสุข
สุขภาพแข็งแรง สร้างงาน สร้างอาชีพ รายได้”
“ข้าวคือชีวิตของคนไทยที่แยกกันไม่ออก
ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน”
จากการประชุมในเวทีข้าวไทยปีนี้
ที่ได้สะท้อนสถานะปัจจุบันของเศรษฐกิจชุมชน วัฒนธรรม
วิถีข้าวและชาวนาที่ต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์โลก
โดยนำเสนอตัวอย่างของความก้าวหน้าของวงการข้าว ตั้งแต่การปลูก
การบริหารจัดการการผลิต และการทำธุรกิจ ที่ต่อเนื่องจากข้าว สร้างความเชื่อมั่นว่า
“อนาคตข้าว เป็นอนาคตของคนไทย และประเทศไทยในทุกมิติ อย่างแท้จริง”
ขอเพียงให้คนไทยมีความร่วมแรง ร่วมใจ รวมพลังเป็นหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย
และความสุขของคนไทย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น