นวัตกรรมตอบโจทย์เกษตรอัจฉริยะเพิ่มโอกาสสินค้าเกษตรไทย “อีเด็น” สารเคลือบยืดอายุผักผลไม้และผลไม้ตกแต่ง
วิกฤตการณ์ “โรคโควิด-19” ที่เกิดการระบาดไปทั่วโลก
ในห้วงระยะเวลากว่า 2 ปีมานี้ไม่เพียงสร้างผลกระทบใหญ่หลวง
ต่อทางด้านการสาธารณสุข ชีวิตของผู้คนที่เจ็บป่วย-ล้มตายไปเป็นจำนวนมาก
แต่ ขณะเดียวกันมาตรการควบคุมป้องกันโรคที่หลายประเทศจำเป็นต้องบังคับใช้ยาแรง อย่างการประกาศล็อคดาวน์เมือง
ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจการค้าการขายไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ เช่นยามภาวการณ์ปกติ
การตัดขาดโลกภายนอกงดไปมาหาสู่ระหว่างกันลงชั่วคราว
กลายเป็นปัญหาสำคัญใหม่เร่งด่วน! ให้กับสินค้าเกษตรด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้วไม่สามารถที่จะจำหน่ายได้
จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น
รอเวลาสร้างความคุ้มค่าต่อไปจึงเป็นคำตอบหนึ่ง
EDEN AGRITECH ทีมสตาร์ทอัพด้านการเกษตรไทย
1
ในผู้เข้าร่วมการประกวดโครงการ AgTech Connext 2021 ที่ผ่านเข้ามาสู่รอบการตัดสิน 14 ทีมสุดท้าย
จากการคัดเลือกโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
หรือ NIA และพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้
ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรม อีเด็น “สารเคลือบยืดอายุผักผลไม้และผลไม้ตกแต่ง”
จากสารสกัดธรรมชาติที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการบริโภค
ไม่มีสารเคมีตกค้าง ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น ทั้งในรูปแบบผลผลิตทางการเกษตร
อย่างพืชผัก และผลไม้ หรือการแปรรูป/ตกแต่งแล้ว เช่น ผลไม้ตกแต่งพร้อมรับประทาน รวมไปถึงผลไม้อบแห้งต่างๆ
จากปกติที่ต้องใช้ซัลไฟด์ร่วมในการถนอมเก็บรักษาคุณภาพ
ก็หลีกเลี่ยงการใช้ได้อีกด้วย
วิธีการใช้ อีเด็น
สารเคลือบยืดอายุผักผลไม้และผลไม้ตกแต่ง ทีมเจ้าของผลงานบอกว่าทำได้โดย 1. การจุ่มผ่านทั้งหมด หรือ 2. การพ่นเคลือบโดยตรง ยกตัวอย่างจากกรณีของกลุ่ม
ผักและผลไม้ส่งออก ทุเรียนแกะเนื้อที่ไม่ต้องแช่ฟรีซแข็งส่ง แต่สามารถคงคุณภาพตลอดการขนส่งได้นาน
2-3 สัปดาห์ มะม่วงน้ำดอกไม้ กล้วยหอมทอง เงาะ มังคุด
หน่อไม้ฝรั่ง และตะไคร้ส่งออก ไม่พบการเสียหายในช่วงระยะเวลาที่รับประกันไว้ (20
วัน) ทำให้เพิ่มโอกาสการส่งออกไทยไปได้ไกลมากขึ้น
กลุ่มผลไม้ตกแต่ง (พร้อมทาน) พบว่าคงความสด
สีสันไม่เปลี่ยนแปลงง่าย (ไม่ดำ) อยู่ได้นานขณะวางจำหน่ายของสดในซูเปอร์มาร์เก็ต
หรือกลุ่มแปรรูปผลไม้อบแห้ง ยกตัวอย่างของ มะม่วงน้ำดอกไม้อบแห้งจาก Khao
Yai The Mango House ที่ยืนยันเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยต่อการบริโภค
เพราะใช้อีเด็นทดแทนการใช้ซัลไฟด์ ทั้งนี้ สารเคลือบยืดอายุฯ ยังผ่านการรับรอง อย.
และการยอมรับจากหลายประเทศซึ่งเป็นปลายทางของการส่งออกอีกด้วย
ล่าสุดกำลังดำเนินการด้านเอกสารรับรองการขอ อย.จาก 3 ประเทศเพื่อการส่งออก
ต้นทุนการผลิต
สำหรับการใช้ อีเด็น สารเคลือบยืดอายุผักผลไม้และผลไม้ตกแต่ง จะมีต้นทุนต่อหน่วย (ผักผลไม้ 1 กก.) อยู่ประมาณ 3
บาท/กก. หรืออาจถูกลงได้อีก ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ยกตัวอย่างเช่น
สามารถขนส่งทางเรือได้ แทนการส่งทางอากาศที่มีต้นทุนสูงกว่า ทำให้การส่งออกได้รับความคุ้มค่าเพิ่มมากขึ้น
หรืออีกตัวอย่างการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง พบว่าการใช้
อีเด็น สารเคลือบยืดอายุฯ ในมันเส้นช่วยให้การสกัดแป้งได้%แป้งที่สูงกว่า
หรือการใช้ยืดอายุของท่อนพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อลดการสูญเสีย เพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต
ได้อีกด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกผ่านโครงการ
AgTech
Connext 2021 จาก 14 สตาร์ทอัพสายเกษตรโดยมีผลการดำเนินงานที่น่าสนใจประกอบด้วย 1)
การนำไอโอทีแก้ปัญหาการเกษตรสามารถควบคุมได้ทุกขั้นตอนและตรวจสอบย้อนกลับได้
ได้แก่ เดอะบริคเก็ต: ระบบบริหารจัดการฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด
ด้วยการควบคุมไอโอทีอย่างแม่นยำ ฟาร์มไทยแลนด์: ระบบควบคุม
ดูเเลและจัดการแปลงเกษตร ด้วยเทคโนโลยีไอโอทีผ่านแอพพลิเคชั่นมือถือ ได้ทุกที่
ทุกเวลา
ที่มีผลการทดสอบการใช้งานในพื้นที่ให้เป็นประสิทธิภาพของการผลิตด้านการเกษตร
ลดการใช้แรงงาน และประหยัดต้นทุนด้วย 2) วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ
ที่สนับสนุนการทำเกษตรและมีรูปแบบธุรกิจใหม่รองรับ ได้แก่ โนวี่ โดรน
พัฒนาโดรนให้เหมาะกับประเทศไทย ร่วมกับ เก้าไร่
ที่มีแพลตฟอร์มเชื่อมต่อเกษตรกรที่ต้องการใช้โดรน และนักขับโดรน
เพื่อให้เกิดการบริการแบบคุ้มค่าประหยัดเวลา หรือ โกรว์เด่ ฟาร์มมิ่ง
ออกแบบโรงเรือนปลูกพืชคุณภาพสูงด้วยราคาเข้าถึงได้ พร้อมรับซื้อผลผลิตที่ตอนนี้โฟกัสไปในกลุ่มกัญชงกัญชา
3) นวัตกรรมแก้ปัญหาการเก็บรักษาสินค้าเกษตร ได้แก่ อีเด็น อะกริเทค สารเคลือบยืดอายุผัก
ผลไม้ และผลไม้ตกแต่ง ที่แก้ปัญหาส่งออกมะม่วงทางอากาศไม่ได้จากการหยุดบินในช่วงล็อคดาวน์
โดยเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์แล้วสามารถยืดอายุทำให้ใช้เรือในการขนส่งแทนได้
ช่วยลดค่าขนส่งเป็นอย่างมาก 4) การสร้างตลาดออนไลน์
ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน และสร้างแบรนด์ร่วมกัน ได้แก่ แคสปี้
จะร่วมสร้างแบรนด์สินค้าให้กลุ่มเกษตรกรได้เข้าถึงตลาดออนไลน์ อควาบิซ
มีการแปรรูปอาหารกลุ่มสัตว์น้ำให้มีมูลค่าสูงขึ้นและขายผ่านออนไลน์ครบวงจร เฮิร์ป
สตาร์ทเตอร์ พัฒนาการสร้างตลาดสินค้าชุมชนสู่ออนไลน์
เริ่มดำเนินงานร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง น่าน ตาก นครปฐม นครนายก
และมหาสารคาม ฟาร์มโตะ
ระบบเจ้าของร่วมผลิตที่เชื่อมโยงเกษตรกรและผู้บริโภคเข้าหากันผ่านการขายผลผลิตเกษตรรูปแบบใหม่ตลาดออนไลน์
และ รีคัลท์ ที่นำข้อมูลขนาดใหญ่ของภาพถ่ายดาวเทียมมาพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ
จนมีเกษตรกรในแพลตฟอร์มมากกว่า 5 แสนราย พร้อมต่อยอดรับกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกผัก
ผลไม้ ที่ได้รับรอง GAP เพื่อทำเป็นตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ 7 วัน 7 ฟาร์ม
ที่ทุกแพลตฟอร์มได้อานิสงค์จากการเติบโตของตลาดออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากโควิด
ทำให้เกษตรกรและชุมชนได้รับการตอบรับเพิ่มมากขึ้น
นับได้ว่าการสร้างการเติบโตของธุรกิจชุมชนร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ 5)
การเปลี่ยนภาคเกษตรให้เป็นเกษตรแม่นยำ ได้แก่ น้ำเชื้อว่องไว
นำเทคโนโลยีชีวภาพมาสร้างความแม่นยำในการเกิดลูกวัวได้เพศตามต้องการสำหรับวัวเนื้อและวัวนม
พร้อมมีแนวทางการส่งสินค้าทั่วประเทศและสร้างเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น
ลาว กัมพูชา ไบโอ แมทลิ้งค์
ระบบบริหารจัดการและดูแลการปลูกมันสำปะหลังที่สามารถควบคุมการผลิตได้ทุกขั้นตอน
ได้นำร่องกับกลุ่มปลูกมันที่จังหวัดกาญจนบุรี
ให้เพิ่มผลผลิตสูงขึ้นพร้อมมีคุณภาพมีปริมาณแป้งสูงขึ้น
จะทำให้ขายให้กับกลุ่มโรงงานได้ราคาดีขึ้น ในอีกกลุ่มของกลุ่มประมง อัลจีบา
พัฒนาเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ช่วยให้การนับลูกสัตว์น้ำ
ที่มีระบบปัญญาประดิษฐ์มาช่วยการทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น
สามารถตอบโจทย์กับหน่วยงานวิจัยและผู้เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
พร้อมขยายผลสู่ระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า “14 สตาร์ทอัพด้านเกษตรที่ผ่านการคัดเลือกในโครงการนี้เป็นสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีพร้อมใช้งาน โดยจะได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อปิดจุดอ่อนสำคัญของสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จในการขยายการเติบโตของธุรกิจและตอบโจทย์ตรงใจกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จากนั้นจึงมีการนำผลิตภัณฑ์และบริการไปใช้จริงกับเกษตรกรและผู้ใช้งาน เพื่อเป็นพื้นที่ทดสอบและเป็นต้นแบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Smart Agriculture รวมถึงการสร้างสังคมแห่งโอกาสและก้าวไปสู่การสร้างสรรค์สังคมเกษตรด้วยนวัตกรรม”
ทั้งนี้ อีเด็น สารเคลือบยืดอายุผักผลไม้และผลไม้ตกแต่ง จากทีม EDEN AGRITECH สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 (เงินรางวัล 1 แสนบาท) พร้อมด้วยรางวัล The Popular AgTech Connext 2021 Award (เงินรางวัล 2หมื่นบาท) จากผลโหวตผู้เข้าร่วมงาน ขณะที่ รางวัลชนะเลิศ (เงินรางวัล 1.5 แสนบาท) ได้แก่ น้ำเชื้อว่องไว จากทีมน้ำเชื้อว่องไว และรางวัลที่ 3 (เงินรางวัล 5 หมื่นบาท) ได้แก่ เครื่องนับลูกสัตว์น้ำ จากทีมอัลจีบา
ผู้สนใจหรือเกษตรกรที่ต้องการใช้เทคโนโลยีสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ น้ำเชื้อว่องไว โทร.089-700-9478, อีเด็น สารเคลือบยืดอายุผักผลไม้และผลไม้ตกแต่ง โทร.064-661-3361 และเครื่องนับลูกสัตว์น้ำ โทร.081-904-2166 หรือติดตามข่าวสารด้านนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะได้ที่ AgTech Connext
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น